ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียน 2024 หรือ AFF Mitsubishi Electric Cup 2024 เป็นทัวร์นาเมนต์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จะลงทำการแข่งขันทุกๆ 2 ปี ซึ่งรายการนี้ได้รับการรับรองจาก “ฟีฟา” ว่าเป็นการแข่งขันระดับนานาชาติ “RANK A” ที่จะสามารถนำผลการแข่งขันมาใช้คำนวนอันดับโลกของ ฟีฟา ได้อีกด้วย
หลายคนอาจจำกันได้สำหรับหนล่าสุดเมื่อปี 2022 ที่ ทีมชาติไทย ผงาดคว้าแชมป์สมัยที่ 7 มาครองได้จากการเอาชนะ ทีมชาติเวียดนาม ด้วยสกอร์รวม 2 นัด 3-2 ผงาดคว้าแชมป์สมัยที่ 7 มาครองได้สำเร็จ
รูปแบบการแข่งขันอาเซียน คัพ 2024
เนื่องจากชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน นั้นมีชาติที่ส่งทีมลงทำการแข่งขันทั้งหมด 11 ประเทศ นั่นทำให้รอบแรกจะคัดเลือกหา 10 ทีมเข้าไปเล่นในรอบแบ่งกลุ่ม โดยจะใช้วิธีดูอันดับของ ฟีฟา ซึ่ง 9 อันดับแรกจะเข้ารอบอัตโนมัติ และ 2 อันดับสุดท้ายจะมาเพลย์ออฟหาทีมที่ 10 เข้าไปแข่งขันในรอบแบ่งกลุ่ม
โดยรอบแบ่งกลุ่มจะทำการแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 5 ทีม แข่งขันแบบพบกันหมด ซึ่งแต่ละทีมจะได้เล่นในบ้าน 2 เกมและออกไปเยือน 2 เกม และจะหา 2 ทีมที่อันดับดีที่สุดของทั้ง 2 กลุ่มมาไขว้แข่งขันกันในรอบน็อกเอาต์แบบเหย้า-เยือน
รอบชิงชนะเลิศในฟุตบอลรายการนี้จะแตกต่างจากรายการระดับภูมิภาคอื่นๆ เพราะจะไม่แข่งขันแบบนัดเดียวรู้ผล แต่จะลงแข่งแบบ 2 นัดเหย้า-เยือน โดยยังมีการใช้กฏประตูทีมเยือนหรืออเวย์โกลมาช่วยตัดสินกรณีผล 2 นัดออกมาเสมอกัน และหากยังเท่ากันอีกก็จะดวลจุดโทษชี้ขาดเพื่อหาผู้ชนะ
อาเซียน คัพ 2024 แข่งขันเมื่อไหร่?
ตามโปรแกรมจะเริ่มทำการแข่งขันตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2024 ไปจนถึง 5 มกราคม 2025 ที่จะถึงนี้
รอบแบ่งกลุ่มในอาเซียน คัพ 2024
การจับสลากแบ่งสายเสร็จสิ้นไปตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาที่เมืองฮานอย ประเทศเวียดนาม โดยแบ่งเป็น 2 สายดังนี้
กลุ่ม เอ
ไทย
มาเลเซีย
สิงคโปร์
กัมพูชา
ติมอร์-เลสเต
กลุ่ม บี
เวียดนาม
อินโดนีเซีย
ฟิลิปปินส์
พม่า
ลาว
ทีมชาติไทยในอาเซียน คัพ 2024
อย่างที่กล่าวไปว่า ทัพช้างศึกมีดีกรีเป็นถึงแชมป์ 7 สมัยซึ่งมากที่สุดในบรรดาทุกชาติในภูมิภาคนี้ โดยทีมชุดปัจจุบันจะยังคงนำโดย มาซาทาดะ อิชิอิ หัวหน้าผู้ฝึกสอนชาวญี่ปุ่น และจะใช้สนามราชมังคลากีฬาสถานเป็นสนามเหย้าในทัวร์นาเมนต์นี้
สำหรับโปรแกรมของทีมชาติไทยนั้นจะเริ่มตั้งแต่
8 ธันวาคม 2024 – พบ ติมอร์-เลสเต (เยือน)
14 ธันวาคม 2024 – พบ มาเลเซีย (เหย้า)
17 ธันวาคม 2024 – พบ สิงคโปร์ (เยือน)
20 ธันวาคม 2024 – พบ กัมพูชา (เหย้า)
สถิติอาเซียน คัพ ที่น่าสนใจ
จากการแข่งขันทั้งหมด 14 ครั้งก่อนหน้านี้มีเพียง 4 ชาติเท่านั้นที่เคยคว้าแชมป์รายการนี้มาครองได้ประกอบด้วย
– ทีมชาติไทย 7 สมัย
– ทีมชาติสิงคโปร์ 4 สมัย
– ทีมชาติเวียดนาม 2 สมัย
– ทีมชาติมาเลเซีย 2 สมัย
โดยมีเพียง ไทย และ สิงคโปร์ เท่านั้นที่เคยป้องกันแชมป์รายการนี้ได้สำเร็จ
ทำเนียบ 10 ดาวซัลโวสูงสุด
ธีรศิลป์ แดงดา (ไทย) – 25 ประตู
โนห์ อลัม ซาร์ (สิงคโปร์) – 17 ประตู
วรวุฒิ ศรีมะฆะ (ไทย) – 15 ประตู
เล กง วิญ (เวียดนาม) – 15 ประตู
เล วิน ดึก (เวียดนาม) – 14 ประตู
คูร์ไนวาน ยูเลียนโต (อินโดนีเซีย) – 13 ประตู
อดิศักดิ์ ไกรษร (ไทย) – 13 ประตู
บัมบาง ปามุงกัส (อินโดนีเซีย) – 12 ประตู
เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง (ไทย) – 12 ประตู
อากู คาสเมียร์ (สิงคโปร์) – 11 ประตู
สถิติอื่นๆ ที่น่าสนใจ
– ดาวซัลโวมากที่สุด – ธีรศิลป์ แดงดา (ไทย) 4 สมัย (2008, 2012, 2016, 2020)
– ยิงสูงสุดในทัวร์นาเมนต์เดียว – โน อลัม ซาร์ (สิงคโปร์) 10 ประตู (2007)
– ยิงประตูสูงสุดในเกมเดียว – โน อลัม ซาร์ (สิงคโปร์) 7 ประตู (2007)
– แฮตทริกเร็วที่สุด – ศรายุทธ ชัยคำดี (ไทย) – 4 นาที (2004)
– ผู้จัดการทีมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด – ราโดโก อวราโมวิช แชมป์ 3 สมัยกับ สิงคโปร์ (2004, 2007, 2012)
– ผู้เล่นที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด – สารัช อยู่เย็น แชมป์ 4 สมัยกับ ทีมชาติไทย (2014, 2016, 2020, 2022)
– ผู้เล่นอายุน้อยที่สุดที่ลงสนาม – เซนิวิโอ (ติมอร์) 16 ปี 7 เดือน 13 วัน (2021)
– ผู้เล่นอายุมากที่สุดที่ลงสนาม – ฮัสซาน ซันนี (สิงคโปร์) 38 ปี 9 เดือน 1 วัน (2022)
– ผู้เล่นอายุน้อยสุดที่ทำประตูได้ – มาร์เซลิโญ เฟอร์ดินาน (อินโดนีเซีย) 18 ปี 3 เดือน 24 วัน (2022)
– ผู้เล่นอายุมากสุดที่ทำประตูได้ – อเล็กซานเดอร์ ดูริช (สิงคโปร์) 42 ปี 3 เดือน 7 วัน (2012)