"พิกโตแกรม โอลิมปิก Paris 2024" : มากกว่าสัญลักษณ์ชนิดกีฬาคือเหรียญตราเกียรติยศ

เรียกได้ว่าฉีกทุกกฎการออกแบบ พิกโตแกรม (Pictogram) ในวงการกีฬาสำหรับ พิกโตแกรม ของการแข่งขันโอลิมปิกและพาราลิมปิก Paris 2024 เนื่องจากพิกโตแกรมมักนิยมออกแบบเป็นรูปทรงการเคลื่อนไหวร่างกายของนักกีฬาที่บ่งชี้เอกลักษณ์ของกีฬาประเภทต่างๆ แบบซีลูเอตต์และเรียบง่าย ลดทอนรายละเอียดเพื่อให้เป็นภาษาสากลที่ทุกคนเข้าใจได้ง่ายและรวดเร็วว่าเป็นสัญลักษณ์ของกีฬาชนิดใด แต่พิกโตแกรมของ Paris 2024 กลับไม่มีรูปร่างคนปรากฏอยู่เลยในทุกภาพและบางภาพอาจใช้เวลาตีความหมายอยู่พอสมควร
1ทางคณะกรรมการจัดการแข่งขันกล่าวว่า “มากกว่าพิกโตแกรม คือเหรียญตราเกียรติยศ” การออกแบบจึงประกอบด้วย 3 องค์ประกอบหลัก คือ แกนสมมาตร สนามกีฬา และ สัญลักษณ์ของชนิดกีฬา เช่น ดาบและหน้ากากสำหรับกีฬาฟันดาบ บาร์เบลสำหรับกีฬายกน้ำหนัก ลูกฟุตบอลในสนามรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสำหรับการแข่งขันฟุตบอล ลูกบอลและตาข่ายสำหรับกีฬาวอลเลย์บอล เป็นต้น องค์ประกอบต่างๆ เหล่านี้นำมาประกอบกันในพื้นที่สี่เหลี่ยมจตุรัสและตัดด้วยแกนสมมาตรไขว้กันชวนให้ระลึกถึงตราประจำตระกูลหรือตราประจำสถาบันต่างๆ ทั้งนี้เพื่อให้คุณค่าต่อกีฬา นักกีฬาและผู้ชมกีฬาชนิดนั้นๆ
2“ที่ Paris 2024 เราต้องการเปลี่ยนแปลงและนำเสนอสิ่งใหม่ๆ เพื่อให้เกิดประสบการณ์ที่แตกต่างและสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ พิกโตแกรมของโอลิมปิกและพาราลิมปิกได้ออกแบบเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์นี้เช่นกัน พิกโตแกรม ทั้ง 62 ภาพไม่ได้เป็นแค่พิกโตแกรม แต่คือเหรียญตราเกียรติยศอย่างแท้จริง เหรียญตรานี้เป็นสิ่งที่เชื่อมชุมชนคนรักกีฬาเข้าด้วยกันเพื่อให้ทุกคนรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของกีฬาและมีคุณค่า ด้วยการออกแบบที่มีสีสันและสไตล์ที่โดดเด่น เหรียญตราเกียรติยศเหล่านี้จะช่วยนำโลกแห่งกีฬาและวัฒนธรรมให้ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นในพื้นที่สาธารณะและทำให้ผู้คนมองเห็นได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เราได้สร้าง พิกโตแกรม แบบใหม่ที่รวมองค์ประกอบของเหรียญตราเกียรติยศ ศิลปะ ความเป็นฝรั่งเศส และกีฬาเข้าด้วยกัน” โตนี เอสตองเกต์ (Tony Estanguet) ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขัน Paris 2024 กล่าวถึงแนวคิดในการออกแบบ
3โจอาคิม ครงแซงน์ (Joachim Roncin) หัวหน้าฝ่ายดีไซน์ของการแข่งขันโอลิมปิกและพาราลิมปิก Paris 2024 เสริมว่าพิกโตแกรมเวอร์ชันก่อนๆ ในรูปแบบซีลูเอตต์หรือรูปร่างการเคลื่อนไหวมักสะท้อนความเป็นเพศชาย ดังนั้น ทางทีมดีไซเนอร์จึงหลีกเลี่ยงการใช้รูปทรงแบบเดิมๆ และแทนที่ด้วยเส้น รูปทรงเรขาคณิต และไอคอนของชนิดกีฬานั้นๆ เช่น เรือใบ เชือกแร็กเกต เป็นต้น ทำให้พิกโตแกรมครั้งนี้มีเอกลักษณ์โดดเด่นและไม่ระบุเพศ
4การใช้ พิกโตแกรม หรือภาพสัญลักษณ์แทนตัวหนังสือในวงการกีฬาเกิดขึ้นครั้งแรกในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนครั้งที่ 18 เมื่อค.ศ. 1964 ที่ประเทศญี่ปุ่น เพื่อให้ผู้คนจากต่างชาติและต่างภาษาได้เข้าใจตรงกันในยุคสมัยที่กำแพงภาษายังเป็นอุปสรรคอย่างมาก ในครั้งนั้นทางประเทศเจ้าภาพได้ออกแบบพิกโตแกรมจำนวน 20 ภาพเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของชนิดกีฬาต่างๆ ที่ใช้ในการแข่งขัน และอีก 39 ภาพสำหรับใช้สื่อสารข้อมูลทั่วไป เช่น ห้องน้ำหญิงและห้องน้ำชาย หน่วยปฐมพยาบาล ห้องจำหน่ายตั๋ว ห้องเก็บสัมภาระ ธนาคาร โทรศัพท์ เป็นต้น หลังจากนั้นจึงเกิดการดีไซน์พิกโตแกรมในทุกครั้งของการแข่งขันโอลิมปิกและพาราลิมปิกเรื่อยมา
5ในการแข่งขันโอลิมปิก ค.ศ. 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นที่ผ่านมา ทางทีมดีไซเนอร์ได้ออกแบบพิกโตแกรมโดยได้รับแรงบันดาลใจจากชุดพิกโตแกรมเมื่อค.ศ. 1964 เพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูการออกแบบของบรมครูดีไซเนอร์ชาวญี่ปุ่นในครั้งนั้นที่ทรงอิทธิพลต่อวงการกราฟิกดีไซน์ทั่วโลกในเวลาต่อมา อีกทั้งในพิธีเปิดการแข่งขันในครั้งนั้นได้มีการแสดง Human Pictogram หรือสัญลักษณ์พิกโตแกรมโดยใช้คนจริงที่มีรูปแบบการแสดงเหมือนรายการวาไรตียอดนิยมในอดีตอย่างเกมซ่าท้ากึ๋นทำให้ผู้คนทั่วโลกหันมาให้ความสนใจกับการออกแบบและสัญลักษณ์ของพิกโตแกรมเป็นอย่างมากในเวลาเพียงข้ามคืน
6นอกจากนี้ การออกแบบ พิกโตแกรม ในการแข่งขันโอลิมปิกที่เริ่มมีการใช้อุปกรณ์เฉพาะของกีฬาประเภทต่างๆ มาเป็นสัญลักษณ์หลักแทนการใช้รูปทรงการเคลื่อนไหวของนักกีฬาคือโอลิมปิก ค.ศ. 1968 ที่ประเทศเม็กซิโก เช่น นวมสำหรับกีฬามวย ไม้พายและรูปคลื่นสำหรับการแข่งขันแคนู แร็กเกตและลูกเทนนิสสำหรับกีฬาเทนนิส แต่ในบางภาพแสดงบางส่วนของร่างกายพร้อมอุปกรณ์ เช่น มือข้างหนึ่งยกบาร์เบลสำหรับกีฬายกน้ำหนัก มือข้างหนึ่งโหนห่วงยิมนาสติก และเท้าข้างหนึ่งสวมรองเท้าวิ่งสำหรับการแข่งขันกรีฑา
7สำหรับพิกโตแกรมปารีสโอลิมปิกนั้นมีทั้งหมด 62 แบบ ประกอบด้วย 47 แบบสำหรับการแข่งขันโอลิมปิก และ 15 แบบสำหรับพาราลิมปิกโดยเฉพาะ ทั้งนี้จะมี 8 ภาพชนิดกีฬาที่ใช้ร่วมกันทั้งสองรายการการแข่งขัน

8

9