ชัชชัย เช มีชื่อเดิมว่า ชเว ย็อง-ซ็อก เกิดเมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2517 เป็นที่รู้จักในชื่อ โค้ชเช เป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอนนักกีฬาเทควันโดทีมชาติไทย, อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์การกีฬาและสุขภาพ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ชัชชัย ช่วยพัฒนานักกีฬาเทควันโดไทย จากที่เป็นอันดับท้ายๆของโลกก้าวมาสู่ 1-10 ของโลก ผลงานสำคัญคือ นำทีมนักกีฬาเทควันโดทีมชาติไทยเข้าร่วมการแข่งขันในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์และการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนจนสร้างผลงานโดดเด่นได้รับเหรียญรางวัลมากมายอย่างต่อเนื่องรวมถึงในระดับเยาวชนโลก
ประวัติ
ชัชชัย เกิดที่ซ็องนัม ประเทศเกาหลีใต้ ในครอบครัวที่มีย่า, พ่อ, แม่ และพี่สาว บิดาเป็นวิศวกร เสียชีวิตจากโรคมะเร็งปอดเมื่อ ชัชชัย อายุเพียง 7 ขวบ ตั้งแต่บิดาป่วยหนัก มารดาต้องทิ้งการเป็นแม่บ้าน ไปทำงานในโรงงานทำขนมเพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย เบื้องต้นเขาเป็นนักกรีฑามาก่อน แต่พออายุ 12 ปี ชัชชัย เริ่มสนใจกีฬาเทควันโดจากเพื่อน หลังจากนั้นจึงลงแข่งขันชิงแชมป์ในประเทศเกาหลีใต้ หลังเรียนได้ 3-4 เดือน เขาได้เหรียญทองแดง และเป็นแรงบันดาลใจให้เขาเล่นเทควันโดต่อไป เมื่อเข้าเรียนระดับอุดมศึกษา เขาแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายครอบครัวด้วยการทำงานเป็นกรรมกรและส่งหนังสือพิมพ์ช่วงปิดเทอม
ชัชชัย สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมจากโรงเรียนมัธยมพุงแซง, ระดับปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยคย็องว็อน, ปริญญาโทด้านพลศึกษา มหาวิทยาลัยคังว็อน เคยเป็นนักกีฬาเทควันโดทีมชาติเกาหลีใต้, สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาเทควันโด มหาวิทยาลัยทงอา และกำลังศึกษาปริญญาเอก สาขาการจัดการกีฬา คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
การทำงาน
ชัชชัย เริ่มเป็นโค้ชให้กับเทควันโดทีมชาติบาห์เรน ช่วงปี พ.ศ. 2543 ด้วยเงินเดือน 4,000 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ประสบปัญหาการฝึกซ้อมเพราะภูมิอากาศที่ร้อน หลังทำงานได้เพียงปีครึ่ง ก็ลาพักร้อนไปหนึ่งเดือนซึ่งตรงกับช่วงที่มารดาเสียชีวิตพอดี ชัชชัย ไม่กลับไปทำงานที่บาห์เรนอีก และส่งรุ่นน้องไปทำงานแทน ต่อมาสมาคมเทควันโดแห่งประเทศไทยได้ติดต่อสหพันธ์เทควันโดสากล เพื่อจัดหาโค้ชมาทดแทนโค้ชเดิมที่ลาออกไป ชัชชัย จึงได้รับคัดเลือกให้มาเป็นโค้ชให้นักกีฬาเทควันโดทีมชาติไทย ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2545 เป็นที่รู้จักในนาม “โค้ชเช” มีชื่อเสียงจากการฝึกสอนนักกีฬาเทควันโดเข้าร่วมการแข่งขันในเอเชียนเกมส์และโอลิมปิกเกมส์จนสร้างผลงานโดดเด่น ได้แก่
– พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ เหรียญทองโอลิมปิก 2020 ที่ญี่ปุ่น, โอลิมปิก 2024 ที่ฝรั่งเศส และเหรียญทองแดงโอลิมปิก 2016 ที่บราซิล
– บุตรี เผือดผ่อง เหรียญเงินโอลิมปิก 2008 ที่จีน
– เทวินทร์ หาญปราบ เหรียญเงินโอลิมปิก 2016 ที่บราซิล
– เยาวภา บุรพลชัย เหรียญทองแดงโอลิมปิก 2004 ที่กรีซ
– ชนาธิป ซ้อนขำ เหรียญทองแดงโอลิมปิก 2012 ที่สหราชอาณาจักร และเหรียญทองเอเชียนเกมส์ 2010 ที่กว่างโจว ประเทศจีน
– สริตา ผ่องศรี และ ชัชวาล ขาวละออ เหรียญทองเอเชียนเกมส์ 2010 ที่กว่างโจว ประเทศจีน
ผลงานยอดเยี่ยมด้วยการทำให้นักกีฬาเทควันโดทีมชาติไทยประสบความสำเร็จและเป็นแชมป์โลกได้ถึง 4 คน ได้แก่
– รังสิญา นิสัยสม แชมป์เทควันโดโลก รุ่นไม่เกิน 62 กก.หญิง ในปี 2011 ที่ประเทศเกาหลีใต้
– ชัชวาล ขาวละออ แชมป์เทควันโดโลก รุ่นไม่เกิน 54 กก.ชาย ในปี 2011 ที่ประเทศเกาหลีใต้
– ชนาธิป ซ้อนขำ แชมป์เทควันโดโลก รุ่นไม่เกิน 49 กก.หญิง ในปี 2013 ที่ประเทศเม็กซิโก
– พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ แชมป์เทควันโดโลก รุ่นไม่เกิน 46 กก.หญิง ในปี 2015 ที่ประเทศรัสเซีย
ชีวิตส่วนตัว
ชัชชัย สมรสกับ จิน อึน-ซุก หรือชื่อภาษาไทยว่า กันยา หญิงชาวเกาหลีใต้ ทั้งสองมีบุตรหนึ่งคน คือ ชเว จุน-มิน
ชัชชัย ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยมานานจนมีความผูกพันต่อประเทศไทยและลูกศิษย์ แม้ว่าจะมีหลายประเทศมาทาบทามให้ ชัชชัย เป็นผู้ฝึกสอนในต่างแดนด้วยค่าตอบแทนที่สูงกว่า แต่เขาก็ปฏิเสธไปทุกราย เนื่องจากทำใจไม่ได้ที่จะฝึกให้ชาวต่างชาติมาห้ำหั่นกับลูกศิษย์ของตน ชัชชัย ให้ข้อคิดกับนักเทควันโดของไทยว่า ต้องทำงานหนักอีกมากก่อนที่จะก้าวไปเป็นหัวแถวของโลกเหมือนเกาหลีใต้ได้ นักกีฬาไทยต้องทุ่มเท 200% ขณะที่เกาหลีแสดงออกมาแค่ 60% จากสิ่งที่พวกเขามี พวกเขาก็ยังเป็นเบอร์ 1ของโลก ขณะที่เรายังเป็นผู้ท้าชิงเสมอ
เดิม ชัชชัย ถือสัญชาติเกาหลีใต้ และมีข่าวเกี่ยวกับเรื่องการโอนสัญชาติเป็นไทยอยู่เนืองๆ มีกระแสใหญ่ในพ.ศ. 2561 และในพ.ศ. 2564 ก่อนหน้านี้ ชัชชัย มีชื่อในภาษาไทยว่า “ชัยศักดิ์” แปลว่า “ผู้มีชัยชนะและศักดิ์ศรีที่ยิ่งใหญ่” ตั้งแต่พ.ศ. 2554 ให้คล้องกับชื่อในภาษาเกาหลี
ในโอลิมปิกฤดูร้อน 2020 สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (ธงชัย ธมฺมธโช) ตั้งชื่อไทยให้ ชเว เลือกสามชื่อ ซึ่งเขาเลือกชื่อ “ชัชชัย เช” ซึ่งแปลว่า “ชัยชนะที่มั่นคง” กระทั่งเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2565 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้แปลงสัญชาติเป็นสัญชาติไทย
รางวัลที่ได้รับ
– วันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2555 – รางวัลรองชนะเลิศ ผู้ฝึกสอนยอดเยี่ยม สยามกีฬาอวอร์ดส์ ครั้งที่ 6
– วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2555 – รางวัลพิเศษ รางวัลเกียรติคุณผู้ฝึกสอนต่างประเทศที่มีผลงานดีเด่น วันกีฬาแห่งชาติ 2555 ที่อินดอร์สเตเดี้ยม หัวหมาก
– วันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2557 – รางวัลบุคคลแห่งปี ของกระทรวงวัฒนธรรม, กีฬาและการท่องเที่ยว ประเทศเกาหลีใต้ ในฐานะบุคคลที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศเกาหลีใต้
– พ.ศ. 2558 โคเรียโอเพ่น 2015 – ได้รับรางวัลโค้ชยอดเยี่ยมจากการนำทีมชาติไทยคว้ารางวัลเหรียญทอง 6 เหรียญ, เหรียญเงิน 1 เหรียญ และเหรียญทองแดง 5 เหรียญ